ธรรมศาสตราภิชาน วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ทัศนะของ ปรีดี พนมยงค์ ต่อปัญหาชนชาติกลุ่มน้อย
ท่าน ปรีดี พนมยงค์ อดีตผู้นำของคณะราษฎร นายกรัฐมนตรี ผู้ประศาสน์การของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และรัฐบุรุษอาวุโส ได้เขียนบทความแสดงความเห็นเกี่ยวกับเอกภาพของชาติกับประชาธิปไตย ระหว่างลี้ภัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕ บทความ �ข้อสังเกตเกี่ยวกับเอกภาพของชาติกับประชาธิปไตย� เสนอข้อสังเกตและความเห็นเกี่ยวกับปัญหาสำคัญยิ่งอันหนึ่งในเรื่องของการ สร้างรัฐชาติและรักษารัฐชาตินี้ให้ดำรงและก้าวรุดหน้าไปอย่างสงบสันติ กล่าวอย่างเจาะจงบทความดังกล่าวได้เสนอทางออกให้แก่ปัญหาที่เรียกว่าการ ต่อสู้ของชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลของชนกลุ่มใหญ่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมทั้งไทยด้วย
มูลเหตุของการเกิดการต่อสู้เพื่อแยกตนเป็นเอกราชในบรรดารัฐและชาติต่างๆ สรุปได้ว่ามาจากปัญหาใจกลางเดียวคือ เพราะรัฐบาลกลางในประเทศต่างๆ นั้นไม่ปฏิบัติให้เป็นที่พอใจของชาวเมืองต่างๆ คือเกิดความไม่เป็นธรรม ความอยุติธรรมในการปกครองและการปฏิบัติต่อชนชาติต่างๆ
อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ของชนชาติกลุ่มน้อยต่างๆ นั้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นในทุกกลุ่มชนชาติ เงื่อนไขของการเกิดการต่อสู้จึงไม่ใช่เพียงแต่มีความไม่พอใจในหมู่ชนชาติ ส่วนน้อยเท่านั้น หากแต่ที่สำคัญคือการเกิดมีสิ่งที่ท่านปรีดีเรียกว่า �ความรักปิตุภูมิท้องที่� (Local Patriotism) ความสำนึกในท้องที่นั้นเกิดขึ้นมานับแต่ยุคสังคมศักดินาหรือสังคมส่วย (ฟิวดัลในยุโรป) ซึ่งหัวหน้าสังคมได้รับยกย่องเป็นเจ้าใหญ่มีอิทธิพลเหนือชาวบ้านและข้า ราชการขุนนางทั้งปวง รัฐศักดินาต้องการขยายพระราชอำนาจ วิธีการที่ใช้กันคือการรวมชาติเล็กน้อยเข้ากับชาติที่มีกำลังมากกว่า วิธีการแรกคือด้วยการรบพุ่งโจมตี วิธีการที่ ๒ คือการคุกคามให้เกรงขามยอมมาเป็นเมืองขึ้นส่งส่วยหรือบรรณาการเป็นคราวๆ "วิธีรวมชาติต่างๆ เข้าเป็นชาติเดียวกันเช่นวิธีระบบศักดินานั้นราษฎรของชาติที่ถูกรวมเข้ากับ ชาติใหญ่ไม่มีเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วย คือสุดแท้แต่หัวหน้าของตน ดังนั้นในความรู้สึกของราษฎรจึงยังมีการรักปิตุภูมิท้องที่อยู่มากน้อยบ้าง ตามความช้านานแห่งการรวมเป็นเอกภาพเดียวกันกับชาติที่มีอำนาจเหนือ" (ปรีดี พนมยงค์, ๒๕๒๖, ๑๒๗)
ประการต่อมาเมื่อกลุ่มชนต่างๆ ภายในชาติหนึ่งๆ ยังคงมีจิตสำนึกรักปิตุภูมิท้องที่ของแต่ละกลุ่มชนอยู่ บางกลุ่มอาจเบาบางเพราะกาลเวลาล่วงเลยมาหลายสิบหลายร้อยปี บางกลุ่มอาจเหนียวแน่นถ้าการรวมกับชาติอื่นเพียงไม่กี่ชั่วคน "และเหนียวแน่นยิ่งขึ้นถ้าท้องที่นั้นๆ มีภาษาพูดของตนโดยเฉพาะ ต่างกับภาษาของชนชาติส่วนข้างมาก และถ้ามีทั้งภาษาและศาสนาที่แตกต่างกับชนส่วนข้างมากของชาติ ก็ยิ่งเหนียวแน่นมาก" (อ้างแล้ว)
ท่านปรีดีได้ยกกรณีของไทยมาอธิบายเพิ่มเติมด้วย เช่นเมื่อประมาณไม่กี่เดือนมานี้ทางราชการแถลงใจความว่า มีคนไทยเชื้อชาติมลายูเป็นลูกชายของตวนกูโมหะยิดดิน ที่สืบสายจากราชาแห่งปัตตานีได้เป็นหัวหน้าทำการต่อสู้เพื่อแยกดินแดนส่วน หนึ่งทางปักษ์ใต้ ตั้งขึ้นเป็นรัฐอิสระ หรือรวมเป็นสหพันธรัฐกับรัฐต่างๆ แห่งมลายาตะวันออก ถ้าเราถอยหลังไปพิจารณาข่าวภายหลังรัฐประหารในประเทศไทย ค.ศ. ๑๙๔๗ ก็เคยมีคดีที่รัฐบาลสมัยนั้นได้จับกุมอดีตผู้แทนราษฎรและชาวอีสานหลายคนมา ฟ้องศาลฐานกบฏแยกดินแดน ศาลพิจารณาแล้วไม่มีมูลความจริง จึงตัดสินยกฟ้อง แต่ถ้าเราถอยหลังไปอ่านประวัติศาสตร์รัชกาลที่ ๓ ซึ่งเป็นเวลา ๑๕๐ ปีมานี้ ก็จะทราบว่าเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ซึ่งสืบสายมาจากพระราชาธิบดีแห่งกรุง ศรีสตนาคณหุตได้ทำการยึดดินแดนอีสาน เพื่อเอาไปรวมกับดินแดนลาวฟื้นอาณาจักรศรีสตนาคณหุตขึ้นมาอีก
ในรัชกาลที่ ๕ ก็มีกรณี ′ผีบุญบ้า′ ในภาคอีสาน กรณี ′เงี้ยวในภาคพายัพ′ กรณี ′ราชาแห่งปัตตานี′ ชื่ออับดุลกาเด ซึ่งถูกย้ายไปกักตัวอยู่ที่พิษณุโลก แต่เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้กลับมาปัตตานีแล้วก็คิดแยกดินแดนอีก ในสมัยรัชกาลที่ ๖ จึงส่งทหารรักษาวัง จากนครศรีธรรมราชไปปราบ แต่อับดุลกาเดหนีไปลี้ภัยในกลันตัน แล้วต่อมาได้ตาย ณ ที่นั้น ส่วนทายาทชื่อตวนกูโมหะยิดดินนั้น ภายหลังอภิวัฒน์ พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้เข้ามากรุงเทพฯ แสดงความจำนงขอรวมอยู่ในสยามต่อไป เพราะเห็นว่าสยามมีระบบรัฐธรรมนูญเป็นที่พอใจแล้ว แต่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้เล็ดลอดเดินทางไปถึงอินเดียของอังกฤษ เสรีไทยคนหนึ่งได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ที่กรุงเดลีมีชาวอังกฤษกลุ่มหนึ่งเลี้ยงเป็นเกียรติแก่ตวนกูผู้นี้ และดื่มให้พรว่า ′Long Live the King of Pattani′ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อสยามได้กลับมีประชาธิปไตยสมบูรณ์อีก ตวนกูผู้นี้ก็แสดงภักดีต่อสยาม แต่ภายหลังรัฐประหาร พ.ศ. ๒๔๙๐ เกิดกรณีที่ครูศาสนาอิสลามปัตตานีบางคนถูกตำรวจจับแล้วหายตัวไป โดยมีผู้รู้เห็นว่าถูกเอาตัวไปถ่วงทะเลตาย ตวนกูผู้นี้เลยไม่ยอมกลับมาไทยอีกโดยตั้งถิ่นฐานถาวรอยู่ในกลันตัน� (เพิ่งอ้าง, ๑๒๘)
ดังนั้นเพื่อรักษาความเป็นเอกภาพของชาติไว้ ท่านปรีดีเสนอว่าให้ศึกษาและพิจารณาวิธีการแก้ปัญหาของประเทศต่างๆ ดังนี้
1. วิธีการแบบของประเทศในยุโรปตะวันตก เช่น อังกฤษ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ ซึ่งยังมีพระราชาธิบดีในฐานะประมุขของชาติอยู่ แต่ปัญหาไม่ใช่ความผิดของประมุขเหล่านั้น ที่รักษาความเป็นเอกภาพของชาติไม่ได้ "แต่เป็นเพราะความรักปิตุภูมิท้องที่อย่างแรงกล้าของกลุ่มชนในท้องที่นั้นๆ เอง และที่สำคัญก็คือรัฐบาลและชนส่วนข้างมากในชาตินั้นๆ ไม่คำนึงให้เพียงพอถึงความรู้สึกรักปิตุภูมิท้องที่ของแต่ละกลุ่มชน ว่ามีมากมายเหนียวแน่นขนาดไหน ผลจึงบังเกิดขึ้นตามธรรมชาติแห่งการรักปิตุภูมิท้องที่"
2. วิธีเผด็จการแบบนาซี หรือฟาสซิสต์หรือมิลิแทริสต์ ซึ่งเป็นไปได้ชั่วคราว เช่น ฮิตเลอร์ใช้กำลังรวมคนออสเตรีย ที่เป็นเชื้อชาติเยอรมันเข้ากับอาณาจักรเยอรมันครั้งที่ ๓ ก็ไม่อาจทำให้คนออสเตรียหมดความรักปิตุภูมิท้องที่ของตนไปได้ จึงดิ้นรนตลอดมาเพื่อตั้งเป็นชาติเอกเทศจากเยอรมัน มุสโสลินีใช้วิธีบังคับให้ชนในดินแดนที่โอนมาเป็นของอิตาลีภายหลังสงครามโลก ครั้งที่ ๑ อาทิ ส่วนหนึ่งของแคว้นตีโรลซึ่งพลเมืองเป็นเชื้อชาติเยอรมันนั้นต้องเรียน หนังสืออิตาเลียนและต้องพูดภาษาอิตาเลียน และลัทธิทหารญี่ปุ่นในภาคอีสานของจีน (แมนจูเรีย) เป็นต้น
3. วิธีการสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งพลเมืองประกอบด้วยชนชาติพูดภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาเลียน โดยแยกออกเป็นแขวงๆ แต่ละแขวงมีสิทธิปกครองตนเอง ใช้ภาษาของตนเองแล้วรวมกันเป็นสมาพันธรัฐ มีรัฐบาลกลางเดียวกัน ก็ไม่ปรากฏว่ามีชนชาติใดในสวิตเซอร์แลนด์ดิ้นรนปลีกคนออกมาตั้งเป็นชาติ เอกเทศต่างหาก
4. วิธีการแบบประชาธิปไตย ตามหลักที่ประธานาธิบดีลิงคอล์นให้ไว้คือการปกครองโดย "รัฐบาลของราษฎร โดยราษฎร เพื่อราษฎร" ถ้าทำตามนี้ได้จริง เอกภาพของชาติก็เป็น "เอกภาพของราษฎร โดยราษฎร เพื่อราษฎร" เป็นความเต็มใจของราษฎรเอง ที่รักษาเอกภาพของราษฎรจึงเป็นการรักษาเอกภาพของชาติให้มั่นคงได้ "วิธีประชาธิปไตยดังกล่าวนี้เป็นการนำไปสู่รากฐานแห่งจิตสำนึกของมนุษย์ ที่จะให้มีความรู้สึกในความต้องการเอกภาพของชาติ แม้จะตั้งต้นจากโครงร่างเบื้องบนของสังคมก่อนคือมีระบบการเมืองดังกล่าวนั้น แล้วรัฐบาลแห่งระบบนั้นก็ดำเนินแก้ไขสมุฏฐานของสังคมคือสภาพเศรษฐกิจให้ ราษฎรถ้วนหน้า มีความกินดีอยู่ดีทั่วกัน ราษฎรก็ย่อมเห็นคุณประโยชน์ที่ตนได้รับในการรักษาเอกภาพกับชนชาติต่างๆ ที่รวมกันเข้าเป็นชาติอันหนึ่งอันเดียวกันนั้น"
ท่านปรีดีได้วิจารณ์แนวทางการรักษาเอกภาพของชาติที่ไม่สอดคล้องกับความเป็น จริง ว่าเป็นวิธีการแบบจิตนิยม คือ อาศัยทางจิตที่ปราศจากรากฐานเศรษฐกิจและการเมืองประชาธิปไตยของราษฎรก็เท่า กับอาศัยการลอยไปลอยมาในอากาศ ซึ่งอาจหล่นลงหรือไปสู่อวกาศนอกโลกพิภพ มนุษย์อยู่ได้ด้วยการมีปัจจัยดำรงชีพและมีระบบการเมือง
ประชาธิปไตย ที่ให้สิทธิมนุษยชน ผู้ที่อาศัยสภาพทางจิตโดยไม่กังวลถึงสภาพเศรษฐกิจ ก็เพราะเขาเองมีความสมบูรณ์หรือมีพอกินพอใช้ในทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว แต่คนส่วนมากยังขาดปัจจัยดำรงชีพอยู่ ย่อมมีจิตในการค้นคว้าหาชีวปัจจัย ในทางที่ชอบพร้อมด้วยสิทธิมนุษยชน พวกเขาอาจถือสภาพทางจิตอย่างเดียวตามการโฆษณาไปได้เพียงชั่วคราว แต่เมื่อรอคอยผลแห่งวิธีนั้นชั่วกาละหนึ่งแล้วไม่เห็นผลว่าได้ช่วยความเป็น อยู่ทางเศรษฐกิจ และสิทธิมนุษยชนของเขาแล้ว เขาก็อาจไปถือสภาพทางจิตชนิดอื่นที่เขาเห็นว่าอาจช่วยความเป็นอยู่ทาง เศรษฐกิจและสิทธิมนุษยชนของเขาที่ดีกว่าก็เป็นได้ (เพิ่งอ้าง, ๑๓๐)
จากบทความข้างต้นนี้ กล่าวได้ว่า ท่านปรีดี พนมยงค์ มองปัญหาความขัดแย้งและการต่อสู้ระหว่างชนชาติกลุ่มน้อยกับรัฐบาลกลางว่า เป็นปัญหาสามัญคือไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่ประการใดในกระบวนการเกิดและ สร้างรัฐชาติขึ้นมา ชุมชนและกลุ่มชนต่างๆ ได้เกิดมานานแล้ว ก่อนที่จะมีการเกิดและสร้างรัฐชาติขึ้นมา ในชุมชนต่างๆ นั้นก็ได้มีการเกิดความรักปิตุภูมิท้องที่ของกลุ่มชนต่างๆ นับแต่หลังมีการรวมเอาชนชาติเล็กๆ เข้ามาไว้กับชนชาติใหญ่ ปัญหาความขัดแย้งกระทั่งนำไปสู่การต่อสู้รุนแรงมากขึ้น เป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายในการปกครองของรัฐบาลกลาง ที่ไม่เข้าใจความรู้สึกในความรักปิตุภูมิท้องที่ของกลุ่มชนต่างๆ โดยเฉพาะที่เป็นชนชาติส่วนน้อยในรัฐนั้น เกิดปัญหาความไม่เป็นธรรม ความไม่ยุติธรรม กล่าวโดยรวมคือไม่ได้ดำเนินการปกครองเพื่อราษฎรทั้งหลาย
หนทางในการแก้ปัญหาดังกล่าวที่เหมาะสมที่สุดได้แก่วิธีการประชาธิปไตย คือทำให้การปกครอง เป็นแบบ "รัฐบาลของราษฎร โดยราษฎร เพื่อราษฎร" หากทำได้ตามระบบนี้ ราษฎรทุกชนชาติก็ต้องการรักษาเอกภาพของชาติไว้ ไม่ต้องการปลีกหรือแยกตัวออกเป็นเอกเทศจากชาติใหญ่
แนวความคิดของท่านปรีดีต่อปัญหาความขัดแย้งทางชนชาติจึงได้แก่การหาหนทางใน การทำให้ชนชาติส่วนน้อยสามารถเข้ามาอยู่ร่วมกันกับชนชาติใหญ่ได้อย่างเต็มใจ และพร้อมที่จะรักษาความเป็นเอกภาพของชาติใหญ่เดียวกันนั้นไว้ต่อไปได้ จุดยืนของท่านคือการมองจากรัฐชาติเป็นสำคัญ
ทัศนะของฮัจญีสุหลง
กล่าวได้ว่าผู้นำของคนมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มีใครที่ได้รับ การยอมรับนับถืออย่างกว้างขวางเท่ากับฮัจญีสุหลง อับดุลกาเดร์ โต๊ะมีนา (พ.ศ. ๒๔๓๘-๙๗) หลังจากสำเร็จการศึกษาวิชาศาสนาอิสลามจากเมืองเมกกะ กลับมาเป็นผู้นำศาสนาหัวก้าวหน้าในปัตตานีกระทั่งเข้าร่วมเป็นผู้นำสำคัญของ การเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อสิทธิมนุษยชนของคนมลายูมุสลิมในช่วงที่ประเทศ สยามก็มีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ภายหลังการปฏิวัติ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ในทางประวัติศาสตร์ ฮัจญีสุหลงจึงนับได้ว่าเป็นปัญญาชนก้าวหน้าร่วมสมัยกับบรรดาปัญญาชนของคณะ ราษฎรคนหนึ่ง แต่ทำการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยอยู่ในปัตตานีอันเป็นหัวเมืองภาคใต้สุด ฮัจญีสุหลงพบจุดจบก่อนกาลอันควรภายหลังการรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ เริ่มด้วยการถูกจับกุมคุมขังในข้อหากบฏ หลังจากได้รับอิสรภาพก็ถูกสันติบาลสงขลาเรียกตัวไปสอบสวนแล้วหายสาบสูญไปนับ ตั้งแต่วันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ (เฉลิมเกียรติ, ๒๕๔๗)
ความคิดและทัศนะของฮัจญีสุหลงต่อปัญหาการต่อสู้ของคนมลายูมุสลิมในสาม จังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถรวบรวมได้จากข้อเขียน คำเรียกร้องและการปราศรัยในสถานที่ต่างๆ โดยรวมแล้วเป็นความคิดเห็นร่วมกันของบรรดาแกนนำคนมลายูมุสลิมในสามจังหวัด ต่อปัญหาของพวกเขาเองในขณะนั้น โดยที่ฮัจญีสุหลงทำหน้าที่เป็นผู้นำที่ติดต่อกับทางการสยามมากที่สุด เหตุหนึ่งเนื่องจากชื่อเสียงของฮัจญีสุหลงเป็นที่สนใจและติดตามของรัฐบาลไทย มาโดยตลอด หลักฐานที่เป็นเอกสารที่ให้ภาพของปัญหาและทางออกต่อปัญหามลายูมุสลิมในสาม จังหวัดภาคใต้ดีที่สุดได้แก่เอกสารที่เรียกว่า �คำร้องขอ ๗ ข้อ๑
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง กลุ่มมุสลิมในปะตานีมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยในปัญหาความเดือด ร้อนจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ นำไปสู่การเจรจาและต่อรองกับผู้แทนรัฐบาลไทย จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า ′คำร้องขอ ๗ ข้อ′ เรื่องนี้สำคัญมากต่อการเข้าใจปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ ′การแบ่งแยกดินแดน′ เพราะมันจะกลายมาเป็นหลักฐานเอกในการกล่าวหาและทำให้ผู้นำมุสลิมกลายเป็น ′ผู้ร้าย′ ไปอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง ผู้นำการเมืองของคนปะตานีคนสำคัญที่ถูกจับกุมคือฮัจญีสุหลง
ปัจจุบันนี้ สิ่งที่เรียกว่า ′คำร้องขอ ๗ ข้อ′ โดยฝ่ายมุสลิมภาคใต้ กลายเป็นเอกสารแสดงว่าพวกหัวรุนแรงมุสลิมต้องการ ′แบ่งแยกดินแดน′ ในทางประวัติศาสตร์นั้น การเกิดขึ้นของคำร้องขอดังกล่าวมาจากการเจรจาสองฝ่าย ระหว่างตัวแทนรัฐบาล (หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ในขณะนั้น) กับคณะผู้นำมุสลิมที่ปัตตานี จนได้ข้อเสนอเบื้องต้น ๗ ข้อดังกล่าว และส่งให้รัฐบาลพิจารณาว่าจะรับได้มากน้อยแค่ไหน สิ่งที่คนรุ่นหลังไม่เคยได้ยินมาก่อนเลยก็คือ การที่รัฐบาลในอดีตนั้นได้มีการติดต่อและเจรจากับผู้นำมุสลิมปัตตานีมาอย่าง เป็นกิจจะลักษณะ กระทั่งเกิดมีคำร้องขอ ๗ ข้อขึ้นมา
ในที่นี้จะนำเสนอเอกสารลายมือเขียนจากคณะกรรมการมุสลิมที่มีถึงรัฐบาลพร้อม ทั้งคำขอ ๗ ข้อ ซึ่งนับว่าเป็นเอกสารชั้นต้นที่เก่าที่สุด มาวิเคราะห์ เอกสารชุดนี้ได้มาจาก Barbara Whitingham Jones Papers, School of Oriental and African Studies (SOAS), University of London. เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ส่วนต้นฉบับมีเก็บอยู่ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรุงเทพฯ
สำนักงานคณะกรรมการอิสลามปัตตานี ๑ เมษายน พระพุทธศักราช ๒๔๙๐
การประชุมในวันนี้พร้อมกับมติขอให้รัฐบาลพิจารณาให้เปนไปตามคำร้องขอดังต่อไปนี้ กล่าวคือ
1. ขอให้มีการปกครองใน ๔ จังหวัดปัตตานี สตูล ยะลา นราธิวาสโดยมีผู้ดำรงตำแหน่งอย่างสูง ให้มีอำนาจในการศาสนาอิสลามและมีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการใน ๔ จังหวัดโดยสมบูรณ์ และให้ออกโดยเหตุประการต่างๆ ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งสูงนี้ต้องเป็นมุสลิมใน ๔ จังหวัดนี้ และเป็นผู้ที่ได้รับเลือกจากปวงชนมุสลิมภาคนี้ โดยจะให้มีกำหนดเวลาดำรงตำแหน่งตามทางราชการก็ได้
2. ข้าราชการแต่ละแผนกใน ๔ จังหวัดนี้ให้มีอิสลาม ๘๐ เปอร์เซ็นต์ประกอบอยู่ด้วย
3. การใช้หนังสือในราชการให้ใช้ภาษามลายูและให้ควบกับภาษาไทยด้วย เช่น แบบฟอร์ม หรือใบเสร็จต่างๆ จะต้องให้มีภาษามลายูใช้ด้วย
4. การศึกษาโรงเรียนชั้นประถมให้มีการศึกษาภาษามลายูตลอดประถมบริบูรณ์
5. ขอให้มีศาลรับพิจารณาตามกฎหมายอิสลามแยกออกจากศาลจังหวัดที่มีแล้ว มีโต๊ะกาลีพอสมควรและมีเสรีในการพิพากษาชี้ขาดความโดยจะฟังเสียงผู้ใดไม่ได้ นอกจากผิดหลักกฎหมาย
6. ผลประโยชน์รายได้ต่างๆ จะต้องใช้จ่ายในภาค ๔ จังหวัดนี้ โดยไม่แบ่งจ่ายให้แก่ที่อื่นเลย
7. ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนี้มีเอกสิทธิ์ออกระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติศาสนาอิสลามโดยเห็นชอบผู้มีอำนาจสูง (ตามข้อ 1)
หะยีโมง เก็บอุรัย ผู้บันทึก
รองประธานคณะกรรมการอิสลาม
สำเนาถูกต้อง
ลายเซ็นอ่านไม่ออก
หากวิเคราะห์แนวความคิดในการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนมลายูมุสลิมภาคใต้ กับรัฐไทยตามคำร้องขอข้างต้นนี้ จะเห็นได้ว่าฝ่ายคนมลายูมุสลิมให้ความสำคัญไปที่ปัญหาการปกครองเป็นอันดับ แรกและเป็นข้อต่อที่สำคัญยิ่งในการจัดการแก้ไขปัญหาอื่นๆ ที่ตามมา คำขออันแรกที่ให้มีการเลือกตั้ง ′ผู้ดำรงตำแหน่งอย่างสูง′ โดยคนมลายูมุสลิมในชายแดนภาคใต้ และ �ให้มีอำนาจในการศาสนาอิสลามและมีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการใน ๔ จังหวัดโดยสมบูรณ์� คำถามคืออำนาจของผู้ดำรงตำแหน่งสูงนี้มีอำนาจในทางปกครองทางโลกวิสัยอื่นๆ ด้วยหรือไม่ ดูอย่างเผินๆ เหมือนกับจะไม่ได้มีบทบาทในระบบปกครองและการเมืองของรัฐบาลกลางในพื้นที่ มลายูมุสลิม นอกจากเรื่องทางศาสนาอิสลามเท่านั้น ถ้าความประสงค์ในสมัยโน้นเป็นไปตามการสันนิษฐาน คำถามต่อมาก็คือแล้วผู้ดำรงตำแหน่งสูงนี้จะเอาอำนาจอะไรในการ �แต่งตั้งข้าราชการใน ๔ จังหวัดโดยสมบูรณ์� หรือว่าข้าราชการที่กล่าวถึงนี้ล้วนแต่เป็นข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ใน เรื่องทางศาสนาเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแยกงานราชการออกจากการปฏิบัติตามศาสนาอิสลาม ในเอกสารอีกชิ้นที่ นางบาร์บารา วิตทิ่งนั่มโจนส์ อ้างว่าได้มาจากฮัจญีสุหลง และตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สเตรทไทม์ ฉบับวันที่ ๓ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๗ (พ.ศ. ๒๔๙๐) มีความว่า
"ให้มีการแต่งตั้งบุคคลผู้หนึ่งซึ่งมีอำนาจเต็มในการปกครองสี่จังหวัดของ ปตานี นราธิวาส ยะลาและสะตูล โดยเฉพาะให้มีอำนาจในการปลด ยับยั้งหรือแทนที่ข้าราชการรัฐบาลทั้งหมดได้ บุคคลผู้นี้ควรเป็นผู้ที่เกิดในท้องถิ่นในจังหวัดหนึ่งของสี่จังหวัดและได้ รับการเลือกตั้งโดยประชาชนเอง"
ถ้าพิจารณาจากต้นฉบับอันหลังนี้ คำถามข้างต้นนี้ก็หมดไป เพราะระบุไว้ชัดเจนว่า ′ผู้ดำรงตำแหน่งอย่างสูง′ นี้ต้องมีอำนาจเต็มในการปกครองสี่จังหวัดชายแดนใต้ และมีอำนาจในการปลด ย้ายข้าราชการของรัฐบาลได้ทั้งหมด ดังนั้นในปัญหาแรกว่าด้วยการปกครอง หากยึดตามความเห็นของผู้นำมลายูมุสลิมสมัยโน้น ก็คือต้องการให้มีผู้แทนของคนมลายูมุสลิมและเกิดในดินแดนนี้ด้วย ไม่ใช่มุสลิมจากกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่เป็นต้น ให้ขึ้นมาเป็นผู้มีอำนาจสูงหรือถ้าเรียกตามศัพท์ปัจจุบันก็คือตำแหน่งผู้ว่า ราชการ แต่ไม่ใช่ของจังหวัดเดียว หากให้เป็นผู้ปกครองเหนือสี่จังหวัดมลายูมุสลิมใต้หมดเลย แสดงว่าต้องปรับบรรดาสี่จังหวัดดังกล่าวให้เป็นเอกภาพอันเดียวกัน รูปแบบเก่าคือการจัดตั้งรวมกันเป็นมณฑล ซึ่งในขณะนั้นรัฐบาลหลวงธำรงฯ ได้วิจารณ์คำขอข้อนี้ว่าเป็นการกลับไปหาระบบเก่าคือมณฑลที่ได้เลิกไปแล้ว ในสภาพปัจจุบันคำขอดังกล่าวนี้อาจปรับปรุงใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ทั้ง ทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ได้เปลี่ยนไปมากแล้ว เพื่อให้ได้รูปแบบที่เหมาะสมต่อไป ประเด็นใจกลางคือการเลือกตั้งผู้นำอย่างสูงในพื้นที่มลายูมุสลิม โดยคนมลายูมุสลิม และต้องมาจากคนมลายูมุสลิมเองด้วย จะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด จะนำไปสู่จุดหมายอะไรในระบบการปกครองประชาธิปไตย
นโยบายอื่นๆ ทางเศรษฐกิจ การศึกษา ภาษา และการศาสนา ล้วนมุ่งไปสู่การให้คนมลายูมุสลิมในพื้นที่มีโอกาสและเป็นเจ้าของตนเองคือมี อำนาจอธิปไตยเหนือร่างกายและสังคมของพวกเขากันเอง แนวทางและอุดมการณ์ดังกล่าวนี้มีรากเหง้ามาจากขบวนการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคม ของบรรดาผู้ที่ตกเป็นอาณานิคมทั้งหลาย ด้านหนึ่งคือการสลัดจากแอกของอำนาจปกครองที่มาจากเจ้าอาณานิคม อีกด้านคือการปรากฏขึ้นของความเรียกร้องต้องการทางใจของคนที่เป็นอาณานิคม ซึ่งต่อมาก็คืออุดมการณ์ว่าด้วยสิทธิอัตวินิจฉัยและสิทธิมนุษยชน อันแสดงออกในนโยบายเรื่องการแยกศาลศาสนาอิสลามออกจากศาลไทย การใช้ภาษามลายูในการเรียนระดับประถม ส่วนภาษาราชการและการติดต่อราชการให้ใช้ทั้งภาษาไทยและมลายู และรายได้ เช่น จากการเก็บภาษีในพื้นที่ให้ใช้จ่ายในสี่จังหวัดภาคใต้เท่านั้น คือไม่ส่งไปให้ส่วนกลาง
ทั้งหมดนั้นเป็นความคิดเห็นและได้นำเสนอไปยังรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ก่อนเกิดรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ อันนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงคณะและกลุ่มผู้นำในรัฐบาลอย่างรุนแรง คำขอทั้ง ๗ ข้อข้างต้นจึงไม่มีการอภิปรายและถกเถียงอย่างจริงจังว่าอะไรทำได้และทำไม่ ได้ ทางเลือกอื่นมีอะไรบ้าง กล่าวโดยสรุปการแลกเปลี่ยนสานเสวนาระหว่างรัฐบาลสยามกับแกนนำขบวนการปัตตานี ในปัญหาการเมืองที่อ่อนไหวและกระทบโครงสร้างของรัฐไทยอย่างสันติและ สมานฉันท์ได้มลายสูญสิ้นไปอย่างไม่เหลือเยื่อใย นับจากวันนั้นถึงวันนี้
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1303806822&grpid=no&catid=53